วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

10 ข่าวดังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี 2555


สวทช. ประกาศผล 10 ข่าวดังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี 2555

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2555 เวลา 13:15 น.
24 ธันวาคม 2555 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต ปทุมธานี : ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึง การจัดอันดับ 10 ข่าวดังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2555 ว่า เป็นกิจกรรมที่ สวทช./วท. จัดขึ้นมากว่า 19 ปีแล้ว เพื่อสร้างกระแสความนิยมและส่งเสริมความเข้าใจข่าวสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกลุ่มเยาวชนและสังคมไทย โดยในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป กว่า 3,000 คน ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายร้อยละ 48.1 เพศหญิงร้อยละ 51.9 อายุระหว่าง 20-25 ปี

ผลที่ได้จากการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า การรับทราบเกี่ยวกับข่าวสารของประชาชนในรอบปี 2555 ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและสนใจข่าวสารการเมืองมากกว่าข่าววิทยาศาสตร์ เนื่องจากข่าวการเมืองดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน อีกทั้งเป็นกระแสสังคม ซึ่งตรงกันข้ามกับข่าววิทยาศาสตร์ที่มีผู้สนใจน้อยกว่า เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจได้ยาก เป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มที่จะสนใจ และเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว จึงได้รับความสนใจน้อยกว่าข่าวทั่วไป

อนึ่ง ข่าวที่ประชาคมวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในปีที่ผ่านมาคือ การค้นพบ Higgs boson particle ที่ CERN ซึ่งได้มีการประกาศต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กลับไม่ได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่อย่างใด

ดังนั้น การพัฒนาความสามารถและการสร้าง “นักวิชาชีพ” ด้าน “การสื่อสารวิทยาศาสตร์” เพื่อทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้เกิดความรู้สึกว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงมีความสำคัญเป็นประการต้นๆ สำหรับการสร้างบุคลากรมาร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมฐานความรู้และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศต่อไป

โดยผลการสำรวจข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจ 10 อันดับแรก มีดังนี้

 
อันดับที่ 1 “นาซาใช้ไทยวิจัยโลกร้อน (โครงการวิจัยชั้นบรรยากาศ)”

เนื่องจากชั้นบรรยากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีละอองแขวนลอย (Aerosol) ที่มาจากหลายแหล่ง เช่น เกลือทะเล การเผาไหม้ป่า และพื้นที่เกษตร การเผาไหม้น้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ จากละอองดินทราย ซึ่งปริมาณเข้มข้นของละอองเหล่านี้แปรปรวนอย่างมากตามพื้นที่และฤดูกาล ละอองดังกล่าวจะส่งผลต่อทัศนวิสัย เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมทางอากาศและสุขภาพ มีทั้งกลุ่มที่เร่งการก่อตัวของเมฆและฝน เช่น ละอองเกลือ และกลุ่มที่สลายเมฆและลดการเกิดฝน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิด ปริมาณ และกระบวนการพัดพาแนวราบและแนวดิ่งจะช่วยการพยากรณ์อากาศโดยเฉพาะการเกิดฝนแม่นยำมากขึ้นนอกจากนี้ ยังทำให้รูปแบบจำลองคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกเนื่องจากสภาวะโลกร้อนในอนาคตมีความเคลื่อนสูง เพราะละอองส่งผลให้ความเข้มของแสงอาทิตย์ที่กระทบพื้นโลกลดลง

โครงการดังกล่าวจะใช้อากาศยานประเภทต่างๆ เก็บข้อมูลชนิด ปริมาณ การพัดพาในบรรยากาศ ผลของละอองต่อการเกิดเมฆและฝนในภูมิภาค โดยเป็นอากาศยานของนาซา 3 ลำ ของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงและการบินเกษตร 1 ลำ ซึ่งจะเก็บตัวอย่างอากาศและตรวจวัตถุทางอุตุนิยมวิทยาในชั้นบรรยากาศชั้นบนถึงระดับ 20 กิโลเมตร ซึ่งบอลลูนตรวจสภาพอากาศของไทยไม่สามารถทำได้ และจะมีนักวิจัยไทยจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยประโยชน์ต่อประเทศไทยคือ ได้ข้อมูลเพื่อการปรับแก้สีภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต (ธีออส) และดาวเทียมเชิงแสงอื่นๆ ที่ได้รับการตำหนิว่าสีที่ถ่ายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความผิดเพี้ยนไม่กลมกลืน ซึ่งความเข้าใจเชิงสถานที่และเวลาเกิดเมฆ จะช่วยให้วางแผนการถ่ายภาพได้แม่นยำมากขึ้น

 
อันดับที่ 2 การสร้างมูลค่าเปลือกไข่ ผลิตน้ำมันไบโอดีเซล

สวทช. โดยนักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้ศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาผลิตไบโอดีเซล โดยแปรสภาพเปลือกไข่ มาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เปรียบเทียบกับตัวเร่งปฎิกิริยาแบบของเหลว เช่น โซดาไฟ โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ พบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาของแข็งที่ได้จากเปลือกไข่ หรือผลิตภัณฑ์ อีโค-คาทาล (Eco Catal) ทำให้กระบวนการผลิตไบโอ ดีเซลมีขั้นตอนที่สั้นลง อีกทั้งยังได้กลีเซอรีนและไบโอดีเซลที่มีความบริสุทธิ์สูง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการล้างน้ำและไม่ก่อให้เกิดน้ำเสียในกระบวนการผลิตไบโอ ดีเซลแบบทั่วไป ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวพร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้กับอุตสาหกรรมผลิตไบโอ ดีเซล เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากตัวเร่งปฏิกิริยาจากเปลือกไข่เป็นวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศ โดยไม่ต้องนำเข้าเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาในรูปของเหลว งานวิจัยดังกล่าวยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจโรงฟักไข่ไม่ต้องเสียเงินในการ กำจัดเปลือกไข่เหลือทิ้งด้วยการฝังกลบกว่า 60,000 ตัน ต่อปี จึงเป็นผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

 
อันดับที่ 3 นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศที่เหยียบดวงจันทร์คนแรกสิ้นชีพ

นีล อัลเดน อาร์มสตรอง (Neil Alden Armstrong) เป็นนักบินอวกาศสหรัฐอเมริกา ผู้เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรกของโลก โดยการนำยานอวกาศอพอลโล 11 จอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ มีการถ่ายทอดสดให้ผู้คนทั่วโลกเฝ้าติดตามชมกว่า 500 ล้านคน ยานอพอลโล 11 ถือเป็นเที่ยวบินอวกาศเที่ยวสุดท้ายของอาร์มสตรอง เพราะหนึ่งปีหลังจากนั้น อาร์มสตรอง ผันตัวเองเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาวิศวกรรมการบินอวกาศ ในมหาวิทยาลัยซินซินนาติ และใช้ชีวิตอย่างสงบเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนใดๆ ทั้งสิ้น

วันที่ 25 ส.ค. 2555 นีล อาร์มสตรองได้เสียชีวิตที่เมืองซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ (Cincinnati, Ohio) ด้วยโรคแทรกซ้อนจากการทำบายพาสเส้นเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจอุดตัน ขณะอายุได้ 82 ปี

 
อันดับที่ 4 เนคเทคเปิดตัวสมองกลเตือนภัยดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ผ่าน SMS

สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นำร่องติดตั้งระบบเตือนภัยสมองกลฝังตัว “Landslide Landing System” ใน 243 หมู่บ้าน 22 อำเภอพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มใน จ. เชียงใหม่ ซึ่งระบบเตือนภัย ประกอบด้วย สถานีตรวจวัดระยะไกลทำงานด้วยพลังงานจากเซลแสงอาทิตย์ โดยมีอุปกรณ์ที่ติดตั้งกับสถานี คือ เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นอากาศ โดยระบบจะส่งข้อมูลต่างๆ ไปยังเครื่องแม่ข่ายทุก 5 นาที ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เอไอเอส ข้อมูลทั้งหมดจะถูกประมวลและนำไปสู่การแจ้งเตือนภัยผ่านระบบ SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายอำเภอ (ทั้งนี้ การส่ง SMS สามารถตั้งได้เป็นนาที หรือชั่วโมง เช่น ฤดูร้อน ไม่มีฝนตกอาจจะตั้งเวลาที่จะส่งข้อมูลให้ห่างขึ้น เพื่อประหยัดพลังงาน) โดยในกรณีสภาพอากาศปิด (ไม่มีแสงแดด) อุปกรณ์จะทำงานได้ต่อเนื่องไปอีก 15-20 วัน

 
อันดับ 5 nCA น้ำใส หายเหม็น ออกซิเจนสูง

นวัตกรรมแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสีย ให้กลายเป็นน้ำดี ด้วยการใช้สารน้ำใส (nCLEAR) ในช่วงมหาอุทกภัย ปี 2554 พัฒนาโดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. โดยสารน้ำใส (nCLEAR) ผลิตขึ้นจากสารสกัดธรรมชาติและผงถ่าน ไม่มีอะลูมิเนียมหรือโลหะหนักผสมอยู่ สามารถจับตะกอนในน้ำได้รวดเร็ว และย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากทิ้งให้ตกตะกอน น้ำจะใส ไม่มีกลิ่น และเมื่อต้มฆ่าเชื้อสามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ นอกจากนั้น สารน้ำใส (nCLEAR) ยังสามารถใช้ร่วมกับเครื่องเติมออกซิเจนในน้ำ (nAIR) ทำให้น้ำที่เน่าเสีย ใสสะอาดและมีออกซิเจนมากขึ้น โดย สวทช. ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสารน้ำใส (nCLEAR) แล้วในชื่อ nCA หรือเอ็นค่า กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา

 
อันดับที่ 6 ข้าวโพดพันธุ์ใหม่ “ข้าวเหนียวข้าวก่ำ”

“ข้าวโพดพันธุ์ ใหม่” “ข้าวเหนียวข้าวก่ำ” หรือ “ข้าวโพดข้าวเหนียว” เป็นข้าวพื้นบ้านทางล้านนา และภาคอีสานของไทย มีคุณสมบัติเฉพาะตัว คือ มีสีม่วงดำทั้งลำต้นและเมล็ด รสชาติ กลิ่นหอม มีทั้งความมัน ความเหนียว สามารถปลูกได้ดีในทุกสภาพ ให้ผลผลิตสูง และอุดมไปด้วยมีสารฟีนอลิกและสารแอนโทไซยานินสูง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมแฟนซี สีม่วง 111 ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นโดยฝีมือนักวิจัยของไทย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยเป็นพันธุ์ข้าวโพดสีม่วง นำมาผสมกับสายพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว สกัดสายพันธุ์แท้จากคู่ผสมจนได้สายพันธุ์แท้ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง และคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมออกมาได้ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวแฟนซี สีม่วง 111 และพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวแฟนซี สีขาวม่วง 212 โดยใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ 6-7 ปี

 
อันดับที่ 7 ใช้แสงซินโครตรอนติดตาม วิเคราะห์ “ติ้วขน-สนสามใบ”สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง

เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศ แม้ปัจจุบันการรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดจะมีประสิทธิภาพสูงแต่ก็มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา และการดื้อยา จึงได้มีการศึกษาสารสกัดจากพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและลดการดื้อยา มาใช้เสริมยาเคมีบำบัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

จากการศึกษาพืชสมุนไพรหลายชนิด พบว่า สารสกัดจากกิ่งของพืช 2 ชนิด คือ ติ้วขนและสนสามใบ ให้สารออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีศักยภาพทำให้เซลล์มะเร็งค่อยๆ สลายตัวจากการทำลายตัวเองจากภายใน หรือเรียกว่า การตั้งโปรแกรมทำลายตัวเอง (Apoptosis) ซึ่งกระบวนการนี้ เป็นผลดีอย่างมากต่อการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากมีเพียงเซลล์มะเร็งเท่านั้นที่ตายลงไป ไม่มีผลต่อการทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ข้างเคียง ร่างกายจึงไม่เกิดการอักเสบขึ้น และไม่มีผลข้างเคียงต่อการใช้ยา และเพื่อให้ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แท้จริงของพืชสมุนไพรทั้งสองชนิดนี้ คณะผู้วิจัย ซึ่งประกอบด้วย ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ รศ.ดร.สหพัฒน์ บรัศว์รักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ น.ส.ศศิภาวรรณ มาชะนา นักศึกษาปริญญาเอกภายใต้โครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา จากมหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช และ ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ใช้เทคนิคจุลทรรศน์อินฟราเรด จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกที่เกิดขึ้นภายในเซลล์มะเร็ง ซึ่งสารสกัดสมุนไพร ทั้ง 2 ชนิดนี้ ทำให้เซลล์มะเร็งตายและมีกลไกการออกฤทธิ์ของพืชทั้งสองชนิด แตกต่างจากการรักษาโดยใช้ยาเมลฟาเลนหรือยาเคมีมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

การใช้แสงซินโครตรอน ถือเป็นเทคนิคใหม่ในการวิจัยที่จะต้องวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงสารชีวโมเลกุลระดับเซลล์ ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้น โดยมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ จะนำไปสู่การนำพืชสมุนไพรไปใช้ประโยชน์จริงในอนาคต และจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาและพัฒนาหาสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ต่อไป ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการทำงานวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลสุขภาพ ของประชาชนชาวไทย และยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชดั้งเดิมอีกด้วย

 
อันดับที่ 8 ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านดวงอาทิตย์

ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Transit of Venus) เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา โดยที่ดาวศุกร์จะเคลื่อนที่ผ่านแนวเส้นตรงที่เชื่อมระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นจุดกลมเล็กเคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่พิเศษและหาชมได้ยาก เนื่องจากจะเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้งในรอบ 243 ปี โดยมีรอบการเกิดปรากฏการณ์เป็นคู่ แต่ละคู่จะห่างกัน 121.5 (+/- 8) ปี (และแต่ละครั้งใน 1 คู่นั้นจะเกิดห่างกัน 8 ปี) หากครั้งแรกของคู่แรกเกิดห่างจากครั้งแรกของคู่หลัง 129.5 ปี ครั้งแรกของคู่หลังจากห่างจากครั้งแรกของรอบถัดไป 113.5 ปี ซึ่งการสังเกตการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ยังเป็นการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ที่ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเห็นได้จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวมานานนับหลายศตวรรษ ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 จะเป็นอีกวาระหนึ่งที่คนไทยจะได้เห็นปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เหนือฟ้าเมืองไทย ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ผู้ที่มีชีวิต ณ ปัจจุบันจะมีโอกาสได้เห็น เนื่องจากปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2660 หรืออีกกว่าหนึ่งศตวรรษ

 
อันดับที่ 9 ซูปเปอร์มูน ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 6 ปี

วันที่ 6 พฤษภาคม 2555 เวลาประมาณ 03:34 น. (เวลาในประเทศไทย 10:34 น.) ดวงจันทร์ได้โคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,953 กิโลเมตร และเนื่องจากเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี ผู้คนบนโลกจึงสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 2-3%

ซูเปอร์มูน เป็นปรากฏการณ์จันทร์เพ็ญ หรือจันทร์ดับซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเข้าใกล้โลกของดวงจันทร์ ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์แตกต่างกันไปแต่ละเดือนอยู่ระหว่าง 354,000 และ 410,000 กิโลเมตร เนื่องจากวงโคจรรูปวงรีของดวงจันทร์ และปรากฏการณ์ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เฉพาะดวงจันทร์เข้ามาใกล้โลกพอดีกับวันพระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเข้ามาใกล้ที่สุดในรอบปีอีกด้วย โดยระยะห่างของการเข้าใกล้ของดวงจันทร์ จะมีความแตกต่างกันราวร้อยละ 3 ทั้งนี้เป็นเพราะวงโคจรของดวงจันทร์ไม่ได้เป็นวงกลมอย่างสมบูรณ์ ผลจากการที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง แต่จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อโลก เช่น เหตุแผ่นดินไหวรุนแรง หรือกระแสน้ำที่ไหลอย่างผิดปกติ โดยกระแสน้ำทะเลซึ่งปกติมีการขึ้นและลง ในช่วงหลังเหตุการณ์ดังกล่าว กระแสน้ำจะมีแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เท่านั้น

 
อันดับที่ 10 นาซาค้นพบ “กรวด”ร่องรอยการกัดเซาะของธารน้ำบนดาวอังคาร

นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา เปิดการแถลงข่าวที่ห้องปฏิบัติการวิจัยการขับเคลื่อนยานอวกาศ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ว่ายานคิวริออซิตีที่ลงจอดบนดาวอังคารตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2555 ได้ค้นพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า บนดาวอังคารเคยมีธารน้ำมาก่อน โดยขนาดและรูปร่างของกรวดที่ถูกธารน้ำกัดเซาะนั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นธารน้ำลึกและกระแสน้ำเชี่ยว โดยภาพและข้อมูลที่ได้มาจากยานสำรวจคิวริออสซิตี้ สะท้อนให้เห็นว่าครั้งหนึ่งดาวอังคารที่แห้งแล้ง เคยมีสภาพอากาศอบอุ่นและมีความชื้นมากกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังมีความพยายามในการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของหินกรวดมนที่ค้นพบ เนื่องจากจะช่วยเปิดเผยลักษณะเฉพาะของน้ำที่เคยมีอยู่บนดาวอังคาร ซึ่งจะเป็นสภาพสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาที่น้ำอยู่บนดาวอังคาร เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหล่งน้ำบนดาวอังคารให้มากขึ้นกว่านี้ ซึ่งจะทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคารหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น